อ.จุฬาฯ ดึงสติสายมู เฉลยที่มา กบ 5 ขา สาเหตุมาจากพยาธิ

อ.จุฬาฯ ให้ความรู้กรณี คอหวยฮือฮา “กบ 5 ขา” ชี้เป็นแค่กบพิกลพิการ จากการติดเชื้อพยาธิตัวแบน ย้ำไม่ใช่ตัวใบ้เลข เตือนสายมูอย่าหลงเชื่อจนเสียเงินเสียทอง

ข่าวหวยเลขเด็ด วันที่ 16 สิงหาคม 2567 มีรายงานว่า ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ให้ความรู้กรณีทำไมกบมี 5 ขา โดยระบุว่า “ทำไม กบถึงมี 5 ขา ? …. คำตอบอยู่ที่ พยาธิ ครับ”

จากข่าวเมื่อวานที่มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์รูปภาพ คลิปวิดีโอกบที่มี “ขาที่ 5” โผล่ออกมาจากส่วนท้อง พร้อมกับข้อความว่า “ใครจะขอหวยงวดนี้มาเด้อ” 

ซึ่งจริงๆ แล้วกบตัวนี้เป็นกบที่หญิงสาวชาวกัมพูชาซื้อมาจากเพื่อนชาวกัมพูชา โดยตั้งใจซื้อกบมาเพื่อประกอบอาหาร แต่เมื่อนำกบที่ซื้อมา กลับมาถึงที่พัก ชำแหละเตรียมแช่แข็งเก็บเอาเป็นอาหาร กลับพบว่า กบตัวสุดท้ายมีความผิดปกติ คือมีขา 5 ขา!

และแปลกตรงที่ขา 5 งอกออกมาตรงส่วนตรงกลางท้อง เคยได้ยินและเห็นข่าวกบมี 5 ขามาบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะแยกออกมาจากท่อนขาเดียวกัน แต่สำหรับกบตัวนี้ มีขาที่งอกออกตรงส่วนท้อง จึงไม่ได้ชำแหละทำเป็นอาหาร แต่ตัดสินใจเลี้ยงเอาไว้มาราวๆ 1 เดือน และจะเลี้ยงจนกว่ามันจะตายไปเอง เพราะมีโชคลาภมาตลอด งวดนี้ตั้งใจซื้อเลข 402 เผื่อจะโชคดีถูกรางวัลขึ้นมาบ้าง

ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นแค่ “กบพิกลพิการ” ตัวหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ในธรรมชาติ แต่คนไปสนใจตื่นเต้นกันเองเท่านั้น… คำถามคือ ในทางวิทยาศาสตร์นั้น “กบ 5 ขา (หรือมากกว่านั้น) เกิดขึ้นได้อย่างไร?”

รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์สะเทินนำสะเทินบก ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายเรื่องนี้เอาไว้ครับ (ดูลิงก์ด้านล่าง) สรุปได้ดังนี้

  • การที่พบ “กบนา หลายขา” ซึ่งมีจำนวนขาของกบที่เพิ่มขึ้นมา จาก 4 ขา เป็น 5 ขา 6 ขา หรือที่เคยพบมาที่สุดคือ 7 ขา นั้น เกิดจากอะไร?
  • ลักษณะของกบที่มีขามากกว่า 4 ขานี้ เรียกว่า “Multileg frog” หรือแปลเป็นไทยว่า “กบหลายขา”
  • เกิดจากการติดเชื้อพยาธิตัวแบน Riberoria trematodes ชนิด Ribeiroia ondatrae ในช่วงเจริญวัยของกบที่กำลังมีการสร้างอวัยวะต่างๆ
  • พยาธิชนิดนี้จะเข้าไปรบกวนกระบวนการ organogenesis หรือกระบวนการสร้างอวัยวะ โดยเฉพาะกลุ่มเซลล์ที่จะพัฒนาไปเป็นขา
  • กลุ่มเซลล์เจริญของกบถูกกระตุ้นจากพยาธิตัวแบน ทำให้เซลล์ที่ถูกรบกวน สร้าง “ขา” ออกมาในบริเวณต่างๆ เช่น ต้นขา ข้อขา หรือแม้กระทั่งบริเวณหน้าท้องของกบ
  • ทำไมตามธรรมชาติเราถึงไม่พบเห็นกบที่มีหลายขา? เพราะว่าการเกิดขานั้นจะเกิดในช่วงวัยเด็ก ซึ่งธรรมชาติแล้วในสายใยอาหาร กบมีบทบาททั้งเป็นเหยื่อ และเป็นผู้ล่า ดังนั้นกบหลายขา จึงอยู่รอดได้ยากในธรรมชาติ ทั้งยากในการล่าเหยื่อ และยากในการหลีกหนีศัตรู (งู หนู นก หรือผู้ล่าอื่นๆ)
  • แต่ถ้าเป็นกบเลี้ยง เราจะพบได้บ่อยๆ เพราะถูกเลี้ยงดูโดยผู้เลี้ยง ไม่ลำบากในการดำรงชีวิตเท่าในธรรมชาติ
  • อาจารย์วิเชฏฐ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “ดังนั้น กบหลายขา ไม่ใช่ตัวใบ้เลขใดๆ เลย อย่าหลงเชื่อจนเสียเงินเสียทองกันนะครับ”

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ruay168